Tag

กินหวานเยอะเป็นโรคอะไร

Browsing

น้ำตาล เชื่อว่าหลาย ๆ คนอาจจะคุ้นเคยกับคำนี้อยู่แล้วเรื่องความอร่อย แต่หากกินของหวานหรือของที่มีน้ำตาลมากเกินไปก็อาจจะทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายของเราได้ เพราะเวลาที่เราได้รับความหวานหรือน้ำตาลจากอาหาร น้ำตาลจะทำให้รู้สึกดี นั่นจะทำให้สมองจดจำไปโดยอัตโนมัติว่าหากอยากรู้สึกดี จะต้องหาของหวานหรือน้ำตาลกิน หากมีอาการโหยหาของหวาน ๆ ตลอดเวลานั่นแปลว่า คุณนั้นกำลังจะเป็นโรคติดหวานนั่นเอง บทความนี้เราจะมาทำความรู้จักกับคำว่า ติดหวาน ว่าเป็นอย่างไร มีสาเหตุมาจากอะไรบ้าง อาหารติดหวานนี้จะทำให้เสี่ยงเป็นโรคอะไรได้อีกบ้างไหม แล้วเราจะมีวิธีการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดอาการติดหวานได้อย่างไร


ติดหวานอาการเป็นอย่างไร

ติดหวาน

หลาย ๆ คนเวลากินของหวานหรือของที่มีน้ำตาลจะมีความรู้สึกสดชื่น จริง ๆ แล้วนั้นน้ำตาลจะไปช่วยทำให้เรามีแรงเพิ่มขึ้นในช่วงระยะเวลาหนึ่งอีกด้วย แต่หลังจากนั้นไปก็จะเกิดการหลั่งของสารเซโรโทนินที่ทำให้มีอาการง่วงนอนนั่นเอง มีงานวิจัยหนึ่งได้บอกเอาไว้ว่าหากกินน้ำตาลในปริมาณที่มากเกินไปจะทำให้หิวเร็ว และหิวบ่อย หิวมากกว่าเดิม เพราะว่าน้ำตาลจะไปทำให้ฮอร์โมนเลปตินลดน้อยลง ซึ่งฮอร์โมนตัวนี้จะเป็นฮอร์โมนที่ออกมาหลังจากที่เราอิ่มแล้ว นั่นเป็นสาเหตุว่าทำไมว่าเราถึงไม่อิ่มสักที แล้วถ้ารับประทานน้ำตาลมากเกินไป น้ำตาลจะถูกเปลี่ยนเป็นไกลโคเจนซึ่งจะถูกเก็บไว้ที่ตับ แล้วจึงค่อยนำกลับไปที่กระแสเลือดอีกครั้ง

และสุดท้ายก็จะถูกเปลี่ยนเป็นไขมันที่ไปสะสมตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น หน้าท้อง ต้นขา สะโพก หากสะสมมากเข้าจะทำให้น้ำหนักตัวเกิน หากยังไม่ยอมเลิกรับประทานน้ำตาลอีกล่ะก็จะทำให้กรดไขมันพวกนี้ไปพอกที่หัวใจ ตับ ไต ทำให้อวัยวะในร่างกายเสื่อมสภาพลงไปเรื่อย ๆ แล้วโรคภัยไข้เจ็บก็จะตามมา แล้วเราจะรู้ได้อย่างไร ว่าเราเริ่มมีอาการติดหวาน ในเบื้องต้นจะมีการสังเกตอาการดังนี้

  • รู้สึกอยากกินแต่ของหวาน เช่น ขนม ผลไม้
  • เวลาไม่ได้กินของหวานแล้วจะรู้สึกไม่ดี เหนื่อย หงุดหงิดง่าย
  • หิวบ่อย หรือจะคิดถึงแต่ของกินอยู่เสมอ
  • หลังทานอาหารจะต้องได้ทานของหวานทุกครั้ง
  • จะเติมน้ำตาลในอาหารคาวทุกครั้ง
  • ดื่มน้ำอัดลมมากกว่า 1 แก้วต่อวัน

สาเหตุของอาการติดหวาน

ติดหวาน

เกิดจากการรับประทานของหวานเข้าไปแล้วน้ำตาลไปกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนแห่งความสุขที่มีชื่อว่า โดพามีน จนเกิดการเสพติด ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับคนที่กำลังอยู่ในภาวะเครียดเรื้อรัง นอนดึก พักผ่อนไม่เพียงพอ ตามกลไกของร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลผิดปกติ ทำให้มีความอยากของหวานหรือของที่มีไขมันเพิ่มมากขึ้น แล้วยิ่งถ้าของหวานที่กินมีรสชาติที่ไม่มาก ไม่จัดก็จะยิ่งทำให้ไม่อิ่มสักที บางคนก็มีอาการติดหวานที่เกิดจากกรรมพันธุ์ บางคนที่ติดน้ำตาลพบว่ามียีนส์ที่ติดหวานมาจากบรรพบุรุษรวมถึงเรื่องการเลี้ยงดูของคนในบ้านด้วย

หากบ้านนั้นเป็นบ้านที่ไม่ค่อยมีวินัยในการกิน ก็ยากที่จะปลูกฝังให้เด็กเป็นคนรักสุขภาพ และสิ่งที่เราคุ้นเคยที่สุดนั้นคือ หากกินหวานเยอะเป็นโรคอะไรได้หลายอย่าง เราอาจจะกลายเป็นโรคเบาหวานได้ แต่จริง ๆ แล้วโรคเบาหวานไม่ได้เกิดจากการกินของหวานเพียงอย่างเดียว ซึ่งจะแบ่งโรคเบาหวานแต่ละประเภท ดังนี้

  • เบาหวานประเภทที่ 1 เป็นส่วนน้อย มีประมาณร้อยละ 5 ของผู้ที่เป็นโรคเบาหวานในประเทศไทย ประเภทนี้เกิดจากตับอ่อนในร่างกายไม่สามารถสร้างอินซูลินได้ จึงทำให้ต้องได้รับอินซูลินเป็นประจำ เพื่อไม่ให้ร่างกายขาดอินซูลิน และช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดไม่สูงจนเกินไป เพราะอาจหมดสติ และเสียชีวิตได้ มักพบในเด็กและวัยรุ่น
  • เบาหวานประเภทที่ 2 จัดได้ว่าแทบจะเยอะที่สุดในทุกประเภท เพราะมีถึงร้อยละ 95 ของคนที่เป็นโรคเบาหวาน ส่วนใหญ่มักจะเจอในกลุ่มคนที่มีอายุประมาณ 45 ปีขึ้นไป และร่างกายเกิดสภาวะการดื้ออินซูลิน ส่วนใหญ่เบาหวานประเภทนี้จะไม่แสดงอาการอย่างเฉียบพลัน แต่หากขาดการควบคุม ก็อาจจะเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายอย่างมากได้
  • เบาหวานประเภทที่ 3 เป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์
  • เบาหวานประเภทที่ 4 เป็นเบาหวานประเภทที่เกิดจากสาเหตุอื่น เช่น ความผิดปกติของสารในพันธุกรรม, ยา, โรคทางตับอ่อน cystic fibrosis

สาเหตุของโรคเบาหวาน จึงมีมากกว่าการกินหวานมากๆ เช่น

  • กรรมพันธุ์
  • น้ำหนักเกิน อ้วน ขาดการออกกำลังกาย
  • อายุที่มากขึ้น เสี่ยงเบาหวานมากขึ้น
  • เป็นผู้ป่วยโรคของตับอ่อน เช่น ตับอ่อนอักเสบ หรือเคยได้รับการผ่าตัดตับอ่อน
  • การติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น หัด หัดเยอรมัน คางทูม ซึ่งมีผลต่อการทำงานของตับอ่อน
  • การได้รับยาบางชนิด ทำให้มีการสร้างน้ำตาลมากขึ้นหรือการตอบสนองของอินซูลินได้ไม่ดี
  • การตั้งครรภ์ เนื่องจากมีการสร้างฮอร์โมนจากรกหลายชนิด ซึ่งมีผลยับยั้งการทำงานของอินซูลิน

ติดหวานเสี่ยงเป็นโรคอะไรบ้าง

ติดหวาน

จะเห็นได้ว่าระดับคอเลสเตอรอลและน้ำตาล มีความเกี่ยวข้องกัน จากการศึกษาพบว่าโรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุที่รับประทานน้ำตาลในปริมาณมากจะมีระดับคอเลสเตอรอลที่ไม่ดี และไขมันในปริมาณมาก เมื่อเทียบกับคนทั่วไป เพราะว่า การรับประทานน้ำตาลในปริมาณมาก ๆ จะทำให้ร่างกายกระตุ้นการทำงานของตับที่ผลิตคอเลสเตอรอลที่ไม่ดีมากขึ้น แล้วยังจะไปทำให้การยับยั้งคอเลสเตอรอลที่ไม่ดีน้อยลงด้วย สิ่งที่ตามมาคือ ความอ้วน โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ตับ ไต ฟันผุ ไขมันในเลือดสูง ไขมันพอกในหัวใจ โรคเกาต์ กรดยูริกในเลือดสูง


ติดหวานแก้ไขและป้องกันได้อย่างไร

ติดหวาน

  • ลดหวานแบบไม่เร่งรีบ ค่อยเป็นค่อยไป เป็นการลดปริมาณน้ำตาลลงทีละเล็กน้อย เช่น ลดปริมาณน้ำตาลในอาหารหรือเครื่องดื่มลงครึ่งหนึ่งจากปริมาณปกติ ซึ่งไม่แนะนำให้หยุดการรับประทานน้ำตาลเลยทันที เพราะอาจทำให้ร่างกายโหยหาน้ำตาลและเราไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมของตนเองได้ ทำให้กลับมารับประทานน้ำตาลและอาจรับประทานในปริมาณมากกว่าเดิมรวมทั้งยังส่งผลเสียตามมาอีก เช่น อาจทำให้เกิดอาการหน้ามืด เวียนหัว คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น เพราะฉะนั้นเราควรลดปริมาณน้ำตาลลงในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อให้ร่างกายคุ้นชินกับปริมาณน้ำตาล
  • ดื่มน้ำเปล่า แทนการดื่มน้ำหวาน การดื่มน้ำเปล่าน้อยเกินไปก็เป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้ร่างกายของเราขาดน้ำและยังอาจทำให้หิวบ่อย อาจเกิดอาการหิวแบบโหยหาของหวาน จึงเป็นสาเหตุในการเลือกรับประทานน้ำหวานแทนเพราะคิดว่าร่างกายต้องการน้ำตาล
  • รับประทานผักใบเขียว เพราะผักใบเขียวให้หลากหลายชนิด เช่น คะน้า กวางตุ้ง บล็อกเคอรี่ ผักบุ้ง เพราะเป็นอาหารที่มีแคลอรีต่ำ อีกทั้งยังมีเส้นใยอาหารสูง ช่วยในการดูดซึมน้ำตาลช้าลงจึงช่วยให้ร่างกายดึงน้ำตาลไปใช้ได้ในปริมาณที่เหมาะสมและพอดี
  • รับประทานอาหารให้หลากหลายมากขึ้น อาหารที่ผู้สูงอายุควรกิน คือการรับประทานอาหารหลากหลายนอกจากจะได้รับสารอาหารที่ครบ 5 หมู่แล้วที่มีทั้งข้าว โปรตีน ไขมัน เกลือแร่ วิตามิน โดยเฉพาะโปรตีนและไขมัน ที่จะช่วยให้ระดับน้ำตาลคงที่ ยังทำให้ร่างกายอิ่มนานมากยิ่งขึ้น แถมยังช่วยลดอาการอยากของหวาน ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี และทำให้รู้สึกอิ่มได้นาน มากกว่ากินข้าวหรือแป้งที่มีแต่คาร์โบไฮเดรต
  • ลดการเก็บตุนของหวาน หนึ่งในสาเหตุที่มีส่วนทำให้คุณติดของหวานนั่นคือ การที่คุณซื้อของหวานมาติดไว้ที่บ้านบ่อย ๆ การควบคุมของหวานที่ดีที่สุดคือการอ่านฉลากก่อนซื้อเพราะจะทำให้เรารู้ได้ว่าของแต่ละชิ้นนั้นมีน้ำตาลหรือความหวานเท่าไหร่
  • การหาอะไรทำเพื่อลืมของหวาน ถ้าเกิดว่าคุณเป็นคนคนหนึ่งที่ติดการกินหวานมาก ๆ ให้ลองหาอะไรทำ เช่น ดูหนัง ฟังเพลง ออกกำลังกาย เพราะเวลาที่เราหาอะไรทำหลังจากที่มีความรู้สึกอยากจะกินของหวาน ก็จะทำให้ลืมไปได้ว่าอยากกินของหวานอยู่ นอกจากนี้การออกกำลังกายจะช่วยเพิ่มฮอร์โมนเอ็นโดรฟินซึ่งเป็นฮอร์โมนอารมณ์ดีแบบเดียวกันกับที่เราได้กินของหวานแล้ว

เรียกว่านํ้าตาลมีประโยชน์กับเราอยู่มาก ถ้าหากเราสามารถรับประทานน้ำตาลให้อยู่ในระดับที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันได้ แต่คนส่วนใหญ่มักทานน้ำตาลเกินปริมาณที่ร่างกายต้องการโดยไม่รู้ตัว เพราะในเครื่องดื่มต่าง ๆ ใส่น้ำตาลเกินกำหนดที่ร่างกายต้องการไปมากถึง2-3เท่า จึงเป็นสาเหตุของการเกิดโรคต่าง ๆ ตามมา ถ้าเรารู้จักควบคุมและเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และไม่ลืมที่จะออกกำลังกายเราก็สามารถมีสุขภาพที่ดีแถมยังห่างไกลโรคได้


อ้างอิง