Tag

โรคนอนไม่หลับ

Browsing

อายุที่เพิ่มมากขึ้นนั้น เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญส่งผลต่อภาวะนอนไม่หลับ ซึ่งพบว่าในผู้สูงอายุมักมีการนอนไม่หลับสูงกว่าวัยอื่น ๆ จากการสำรวจพบว่า ในประเทศไทยมีผู้สูงอายุที่ประสบปัญหาการ นอนไม่หลับ สูงถึง 50% มีภาวะการนอนกรน และหยุดหายใจขณะหลับ 2-10% ถือเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญ และควรทำความเข้าใจ


ผู้สูงอายุนอนไม่หลับ มีสาเหตุนะ! ไม่ใช่เรื่องปกติ

ผู้สูงอายุ นอนไม่หลับ ทำยังไงดี? มีวิธีแก้หรือไม่?

สาเหตุของการนอนไม่หลับในผู้สูงอายุ เกิดจากอายุที่เปลี่ยนแปลงมากขึ้น เมื่ออายุเพิ่มขึ้นสมองของคนเราจะเสื่อมไปตามวัยนั้นพบได้ในผู้สูงอายุทุกเพศ และเป็นแทบทุกคน แม้ว่าผู้สูงอายุจะมีสุขภาพดีก็ตาม การทำงานของสมองจึงรวน ทำให้การทำงานของร่างกายเสื่อมลง ระดับฮอร์โมนที่ลดลง ตลอดจนโรคประจำตัวที่รบกวนการนอน

ผู้สูงอายุที่มีปัญหาที่การนอนไม่หลับ เกิดจากหลายสาเหตุ ซึ่งอาจมีความเกี่ยวข้องกับสภาวะสุขภาพ ทั้งกายและจิตใจ นอนไม่หลับ อาจเกิดจากปัญหาทางกาย เช่น อาการปวดเจ็บ ไม่สบายในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง หรือภาวะซึมเศร้า นอนไม่หลับ อาจเกิดจากปัญหาทางจิตใจ เช่น ความเครียด ความกังวล หรือปัญหาทางสังคม จึงต้อง ดูแลผู้สูงอายุให้สุขภาพดีทั้งกายและใจ

ซึ่งสามารถกล่าวโดยรายละเอียด แบ่งออกได้คือ

  1. ผู้สูงอายุที่มีโรคใดก็ตามที่ทำให้ตื่นขึ้นมาปัสสาวะตอนกลางคืนบ่อย ทำให้มีผลกระทบในการนอนต้องตื่นขึ้นมาเข้าห้องน้ำ เช่น โรคเบาหวาน โรคต่อมหมวกไต หรือไตวายเรื้อรัง โรคเหล่านี้ทำให้ปัสสาวะบ่อยครั้ง
  2. ผู้สูงอายุที่มีโรคหรืออาการเจ็บป่วยเรื้อรัง ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวดตามร่างกาย ส่งผลทางอ้อมต่อการนอนหลับ เช่น โรคข้อเสื่อม
  3. ผู้สูงอายุที่ใช้ยาที่มีผลต่อระบบประสาทหรือสมอง เช่น การใช้ยานอนหลับเป็นระยะเวลานาน การใช้ยาในการรักษาโรคพาร์กินสัน หรือการใช้ยารักษาโรคบางชนิด อาทิเช่น ยาน้ำแก้ไอที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เจือปนอยู่ เมื่อผู้สูงอายุใช้ยาเหล่านี้จะส่งผลต่อการนอนไม่หลับ ซึ่งหากผู้สูงอายุหยุดกินยาเหล่านี้ อาการนอนไม่หลับก็จะหายไปเอง
  4. สาเหตุอื่น ๆ เช่น ภาวะซึมเศร้า ความเครียด ความวิตกกังวล

ในเรื่องของการตื่นนอนกลางดึกที่ผู้สูงอายุ รวมถึงคนส่วนใหญ่มีความวิตกกังวลหรือตื่นตระหนก เพราะคิดว่าเป็นเรื่องผิดปกติ แต่ในความเป็นจริงแล้ว หากมีการตื่นกลางดึกและสามารถนอนหลับต่อได้ ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าเป็นห่วง และไม่ได้ส่งผลต่อคุณภาพการนอนแต่อย่างใด


ผู้สูงอายุนอนไม่หลับ สามารถแก้ไขได้หรือไม่? 

ผู้สูงอายุนอนไม่หลับ สามารถแก้ไขได้หรือไม่? 

ผู้สูงอายุนอนไม่หลับ สามารถแก้ไขได้ โดยเริ่มต้นให้ดูก่อนว่า ผู้สูงอายุประสบปัญหามีเรื่องใด วิตกกังวลอยู่หรือไม่ หากมีให้จัดการที่เรื่องนั้น เมื่อไม่มีความวิตกกังวลก็จะสามารถนอนหลับได้ในที่สุด สำหรับผู้สูงอายุที่ไม่มีเรื่องวิตกกังวล อาจมีในเรื่องของโรคประจำตัวที่รบกวนการนอน ซึ่งควรดูแลที่ตัวโรคนั้น ๆ และสนันสนุนปัจจัยต่าง ๆ ที่ช่วยให้นอนหลับง่ายขึ้น ด้วยการป้องกันและการดูแลในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนอน ดังนี้

1. การจัดห้องนอน

จัดห้องนอนให้มีบรรยากาศที่ช่วยให้หลับสบาย ได้แก่

  • มีความเงียบสงบ
  • ใช้ผ้าม่าน ผ้าปูที่นอนและผ้าห่มที่มีสีไม่ฉูดฉาด
  • ปรับอุณหภูมิในห้องให้เหมาะสม ไม่หนาวหรือร้อนเกินไป
  • ไม่ควรสว่างเกินไป เพราะแสงสว่างจะรบกวนการนอนหลับ

2. การเข้านอน

ควรให้ความสำคัญกับเวลา และสถานที่ในการนอน ได้แก่

  • พยายามนอนให้เป็นเวลา และสถานที่เดิมทุกวัน เพื่อให้เกิดความเคยชิน
  • ไม่ควรนอนกลางวันเป็นเวลานาน ๆ อาจหากิจกรรมเบา ๆ ทำ หรือพูดคุยเล่น หากเพลีย หรือง่วงจริง ๆ อาจงีบได้บ้าง แต่ไม่ควรงีบหลังบ่าย 3 โมง เพราะจะทำให้กลางคืนหลับยาก
  • ไม่ควรเข้านอนตั้งแต่หัวค่ำมากนัก เวลาที่เหมาะสมคือ 3-4 ทุ่ม และตื่นตี 4-5

3. การรับประทานอาหารและเครื่องดื่ม

  • เลือกรับประทานอาหารเย็นให้เป็นเวลา และควรกินอาหารที่มีโปรตีนสูง
  • พยายามดื่มน้ำช่วงเช้าและกลางวัน และดื่มให้น้อยลงหลังอาหารเย็น เพื่อลดการปัสสาวะตอนกลางคืน นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนหลัง เวลาบ่าย 2 โมง คำแนะนำในการ ดื่มน้ำสำหรับผู้สูงวัย
  • งดการดื่มสุรา หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ลดการดื่มน้ำในช่วง 4-5 ชั่วโมงก่อนเข้านอน

ผู้สูงอายุนอนไม่หลับ สามารถแก้ไขได้หรือไม่

4. กิจกรรมต่าง ๆ ที่ช่วยในการนอนหลับ

  • พิ่มกิจกรรม หรือออกกำลังกายในช่วงกลางวันให้มากขึ้น และเมื่อถึงเวลานอน แต่ผู้สูงอายุไม่ง่วง ควรหากิจกรรมให้ผู้สูงอายุทำ
  • ฝึกทำสมาธิก่อนนอน เพื่อให้จิตใจสงบ จะทำให้นอนหลับได้ลึกและเต็มอิ่ม

5. แพทย์และการใช้ยา

  • ปรึกษาแพทย์ เพื่อทบทวนยาที่อาจทำให้นอนไม่หลับ และรักษาต้นเหตุที่ทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับ
  • หากต้องใช้ยานอนหลับ ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ เนื่องจากการใช้ยาอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้ติดได้ 

หากผู้สูงอายุมีปัญหาที่การนอนไม่หลับเรื้อรัง ควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญทางสุขภาพ เพื่อการวินิจฉัย และรับการดูแลที่เหมาะสม แพทย์อาจต้องการทำการตรวจร่างกาย การวิเคราะห์ประวัติการนอนหลับ หรือแบบประเมินอื่น ๆ เพื่อหาสาเหตุของปัญหานอนไม่หลับ

นอกจากนี้ สามารถทำกิจกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อส่งเสริมการนอนหลับ เช่น ตั้งเวลานอน และตื่นเช้าให้เป็นประจำ สร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการนอนหลับ ปรับเปลี่ยนรูปแบบการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับสภาวะสุขภาพ ลดการบริโภคสารติดต่อใจ และเลือกทานอาหารที่เหมาะสมสำหรับการนอนหลับ ก็เป็นอีกทางเลือกที่ช่วยได้


อ้างอิง