ท้องผูกในผู้สูงอายุ เป็นปัญหาสุขภาพที่พบบ่อย สามารถป้องกันได้ เพื่อลดความรุนแรง และอาการเรื้อรัง ซึ่งจะส่งผลกระทบตามมาหลายประการ โดยภาวะท้องผูกในผู้สูงอายุ ปัจจุบันพบอยู่ที่ประมาณ 10-20 เปอร์เซ็นต์

พบมากในเพศหญิงและผู้ที่มีอายุมาก ส่วนอุบัติการณ์ภาวะท้องผูกในผู้สูงอายุ ปกติพบมากในชุมชนถึงร้อยละ 10-20 เปอร์เซ็นต์เช่นเดียวกัน แต่ในสถานบริบาล อาจพบสูงถึงร้อยละ 50 เลยทีเดียว การดูแลภาวะท้องผูกในผู้สูงอายุ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ลูกหลานควรเอาใจใส่ ไม่ควรปล่อยปะละเลย สุขภาวะนี้ในผู้สูงอายุ


ท้องผูกในผู้สูงอายุ เกิดจากสาเหตุใดบ้าง 

ท้องผูกในผู้สูงอายุ

เมื่อผู้สูงอายุมีปัญหาท้องผูก สามารถเกิดจากหลายสาเหตุ ซึ่งอาจมีความเกี่ยวข้องกับสภาวะสุขภาพ ทั้งกาย พฤติกรรม และอาหาร เช่น

1. โรคต่าง ๆ 

ผู้สูงอายุมักจะมีภาวะของโรคอยู่หลาย ๆ โรค ที่ทำให้มีโอกาสท้องผูกได้ง่าย เช่น โรคเบาหวาน

2. รับประทานอาหารที่มีเส้นใยน้อย

ผู้สูงอายุบางคนมักรับประทานอาหารน้อยลง ดื่มน้ำน้อย หรือมีความอยากอาหารลดน้อยลง บางคนจะรับประทาน อาหารที่มีกากใยไม่ค่อยได้ ซึ่งอาหารที่มีเส้นใยจะเพิ่มกากอาหาร หรือปริมาณเนื้ออุจจาระ และอุ้มน้ำทำให้อุจจาระอ่อน

3. สุขนิสัยส่วนตัว

ผู้สูงอายุควรสร้างนิสัยการขับถ่ายที่ดี เช่น ถ่ายอุจจาระเป็นเวลา หรือไม่กลั้นอุจจาระบ่อยๆ

4. ระบบการย่อยของทางเดินอาหารเสื่อมลง

สาเหตุจาก การบดเคี้ยวไม่ดี เนื่องจากฟันผุ ไม่มีฟันที่จะบดเคี้ยวอาหารที่มีเส้นใย ประกอบกับการเคลื่อนไหวบีบตัวของลำไส้ลดลง โดยความรับรู้ความรู้สึกของตัวลำไส้น้อยลงที่เป็นไปตามอายุมากขึ้น

5. ไม่ได้เคลื่อนไหว หรือไม่มีการออกกำลังกาย

ผู้สูงอายุที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย หรือผู้ป่วยที่นอนติดเตียง ควรมีการเคลื่อนไหวร่างกาย และการออกกำลังกายจะกระตุ้นกระบวนการเผาผลาญอาหาร ซึ่งจะช่วยให้ลำไส้มีการเคลื่อนไหวบีบตัวให้มีการขับถ่ายดีขึ้น

6. การรับประทานยาระบาย

หากทานยาระบายเป็นประจำ จะทำให้ลำไส้ใหญ่ถูกกระตุ้นจากยาอยู่เสมอ จนลำไส้ไม่สามารถทำงานตามกลไกปกติได้

7. ความเครียด

ส่งผลให้ร่างกายรู้สึกเบื่ออาหาร และรับประทานอาหารได้น้อย มีผลกระทบต่อระบบการขับถ่าย ร่างกายจะระงับการขับถ่ายชั่วคราวได้

8. ยารักษาโรคบางชนิด

อาจจะทำให้เกิดอาการท้องผูก เช่น ยาแก้ปวดบางชนิดอย่าง มอร์ฟีน

9. สาเหตุอื่น ๆ

ดื่มเครื่องดื่มประเภทชา กาแฟมากเกินไป ได้รับยาแก้ปวด หรือยาบางอย่าง หรืออาจมีโรคที่ทำให้ท้องผูกได้ เช่น โรคทางระบบประสาท มะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือการทำงานของต่อมบางอย่างที่ผิดปกติไป ฯลฯ

หากผู้สูงอายุมีปัญหาท้องผูก ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อการวินิจฉัยและรับการรักษาที่เหมาะสม แพทย์อาจแนะนำให้ปรับเปลี่ยนอาหาร เพิ่มประสิทธิภาพในการเคลื่อนไหวของลำไส้ และการดื่มน้ำให้เพียงพอ อาจมีการให้ยาแก้ท้องผูก เพื่อช่วยกระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้ หรือใช้วิธีการอื่น ๆ ที่เหมาะสม เพื่อลดอาการท้องผูก

นอกจากนี้ ผู้สูงอายุควรรักษาพฤติกรรมการกินที่เหมาะสม เช่น บริโภคอาหารที่มีใยอาหารเพียงพอ ดื่มน้ำเพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประสิทธิภาพในการกระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้ และรักษาระยะเวลาการนอนหรือนั่งให้เหมาะสม


ท้องผูกในผู้สูงอายุ มีแนวทางดูแลป้องกันได้อย่างไร 

ท้องผูกในผู้สูงอายุ มีแนวทางดูแลป้องกันได้อย่างไร 

1. รับประทานอาหารที่มีกากหรือเส้นใยอาหารให้มากขึ้น

อาหารที่มีเส้นใยพบมากในผัก เช่น ผักใบเขียวต่าง ๆ เช่น ผักคะน้า ผักโขม กวางตุ้ง ผักกาดหอม ถั่วฝักยาว กะหล่ำปลี แตงกวา หรือมะเขือเทศสด ผลไม้ทุกชนิด เช่น กล้วย สับปะรด ส้มโอ ฝรั่ง องุ่น มะละกอ สาลี่ แอปเปิล เมล็ดธัญพืช เช่น ถั่วต่าง ๆ ข้าวกล้อง ลูกเดือย ข้าวโพด เป็นต้น ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่มีกากใย เช่น ครีม เนย เนื้อสัตว์ติดมัน มันทอด และขนมหวานต่าง ๆ เช่น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง สังขยา ฯลฯ

2. ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว

แนะนำให้ ผู้สูงวัยดื่มน้ำ เป็นประจำ โดยเฉพาะเวลาตื่นนอนตอนเช้า ควรดื่มน้ำ 2-3 แก้ว เพื่อกระตุ้นการทำงานของลำไส้ (ถ้าแพทย์ไม่ได้จำกัดน้ำดื่ม) อาจเพิ่มน้ำผัก น้ำผลไม้ในการช่วยย่อยอาหารด้วย ไม่ควรดื่มชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งจะทำให้อุจจาระแห้ง

3. ขับถ่ายอุจจาระให้เป็นเวลาทุกวัน

ไม่ควรรีบเร่งจนเกินไป ซึ่งตำราโบราณถือว่า เวลา 05.00-07.00 น. เป็นช่วงเวลาที่ลำไส้ใหญ่ทำงานได้ดีที่สุด หรือจัดสถานที่ขับถ่ายให้เหมาะสม

4. ออกกำลังกายเบา ๆ

การออกกำลังกาย เช่น การเดิน การแกว่งแขน การทำกายบริหารอย่างง่าย ๆ จะช่วยให้ระบบการขับถ่ายดีขึ้น

5. ใช้ยาระบายตามแพทย์สั่งหรือผ่าตัด

ถ้าปฏิบัติตามข้อ 1-4 ไม่ได้ผล การใช้ยาระบายให้ใช้เท่าที่จำเป็นตามแพทย์สั่ง ผู้ป่วยส่วนใหญ่ถ้าปฏิบัติตัวดีก็หายเองได้ หากไม่หายอาจจำเป็นต้องคำนึงถึงการผ่าตัด ในกรณีที่พบว่ามีการเคลื่อนไหวของตัวลำไส้ใหญ่ที่ช้ามาก อาจจะต้องตัดลำไส้ออก

6. ผ่อนคลายความเครียดในชีวิตประจำวัน

สูดลมหายใจเข้าออกยาว ๆ ฟังดนตรีเบา ๆ ทำใจให้สบายร่วมกับการออกกำลังกาย เพื่อผ่อนคลายร่างกาย

6 ข้อเหล่านี้คือมาตรการในการป้องกันและรักษาภาวะท้องผูกที่ได้ผลดี มีประสิทธิภาพ หากผู้สูงอายุมีอาการท้องผูก และไม่ได้รับการช่วยเหลือ อาจเกิดผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย อารมณ์ และจิตใจ ทำให้เกิดความไม่สุขสบาย มีภาวะเครียด และรบกวนการดำเนินกิจวัตรประจำวัน

อาการท้องผูกเป็นความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ฉะนั้น ทุกคนควรใส่ใจในการป้องกัน และการแก้ไขภาวะท้องผูก อีกทั้งช่วยลดการเกิดโรคต่าง ๆ ทำให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพแข็งแรงทั้งกายและใจ


อ้างอิง